รีวิว Chungking Express (1994) ภาพยนตร์ที่สร้างนิยามพ็อปคัลเจอร์ให้กับยุค 90s และความหว่องที่เปลี่ยนความเหงาให้คลูอย่างน่าทึ่ง!
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนเห็นกระแสแฟชั่นการแต่งตัวของผู้หญิงที่นำเสื้อยืดตัวเล็กๆ บ้าง เอวลอยบ้าง มาใส่กับกางเกงขากระบอก สวมแว่นดำเรียวๆ แล้วส่วนหนึ่งที่ได้เห็นก็คือเป็นผู้หญิงที่ตัดผมสั้น และจุดนี้เองก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคาแรกเตอร์หนึ่งที่อยู่ในความทรงจำจากยุค 90s นั่นก็คือตัวละคร Faye จากเรื่อง Chungking Express (1994) ของผู้กำกับสุดเก๋าอย่าง Wong Kar-Wai ที่ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเขาเพิ่งจะเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหนังไทยของ บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (Nattawut Poonpiriya) สำหรับเรื่อง วันสุดท้าย…ก่อนบายเธอ (One for the Road) และนอกจากนี้ผลงานก่อนหน้าของเขาก็โด่งดังไปทั่วโลก อย่างเช่น FALLEN ANGELS นักฆ่าตาชั้นเดียว (1995) หรือ In the Mood for Love (2000) ซึ่งก่อนที่จะมีเกาหลีฟีเวอร์ ไทยเราก็ฮ่องกงฟีเวอร์กันมาก่อน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Wong เป็นหนึ่งในผู้สร้างภาพยนตร์ที่น่าจดจำที่สุดในยุคหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นในฐานะนักเขียนบทละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ขนาดเล็ก จนก้าวมาสู่การเป็นผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และหนึ่งในภาพยนตร์ที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขว้างจนถือว่าเป็นพ็อปคัลเจอร์ (Pop Culture) แห่งยุค 90s และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญนั้นก็คือ Chungking Express
Chungking Express มีเรื่องราวที่น่าสนใจและวิธีการที่แยบยล โดยอาจจะกล่าวว่าเป็นเรื่องราวสองเรื่องในหนึ่งเรื่อง หรือ เรื่องเดียวที่เล่าได้สองทาง ก็ได้แล้วแต่คุณจะคิด! ราวกับว่า Wong ได้รวบรวมองค์ประกอบทั้งหมดของเขาและใช้มันเพื่อเล่าเรื่องแรกของเขาจนเสร็จ หลังจากนั้นเขาก็ใช้มุมมองสะท้อนอื่นๆ มาประกอบ มาบิดมันใหม่อีกครั้ง แล้วก็มาบอกกับเราว่า “ทุกคนนี่เป็นชิ้นส่วนเดียวกันในวิธีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงต่างหากล่ะ” และเรื่องราวทั้งสองนี้ก็อบอวลไปด้วยภาพราวกับความฝันอันแสนโรแมนติก ซึ่งมันเกิดขึ้นในโลกที่เหมือนไม่มีอยู่จริง แต่มันมีจริง! เรื่องราวเต็มไปด้วยความรักที่จู่โจมใส่กัน และผู้คนที่เลิกรากัน ทุกสิ่งดูเหมือนอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดที่เรียกว่า “ความเหงา”
เรื่องราวในครึ่งแรกจะเป็นเรื่องราวของ ตำรวจหมายเลข 223 (รับบทโดย Takeshi Kaneshiro) ที่ตามหาอดีตคู่รักที่ชื่อ May ในระหว่างที่เขาทำงานตรวจตราบนถนนในฮ่องกง และในที่สุดเขาก็นำอารมณ์เร่ร่อนของเขามาปักหลักอยู่กับ สาวผมทอง (รับบทโดย Brigitte Lin) ที่เขาได้พบเจอ ซึ่งสุดท้ายเธอก็กลายเป็นศูนย์กลางของการล่อซื้อยาเสพติด
เรื่องที่สองเป็นเรื่องราวของตำรวจอีกคนหนึ่งคือ ตำรวจหมายเลข 663 (รับบทโดย Tony Leung/เหลียง เฉาเหว่ย) ผู้ที่เชื่อว่าตนเองเป็นไอ้ขี้แพ้ในเรื่องของความรัก ซึ่งเขาได้สูญเสียมันไป เขามากินข้าวเป็นประจำที่ Midnight Express เหมือนกันกับ ตำรวจหมายเลข 223 แต่คราวนี้ไม่มีผู้หญิงชื่อ May ในเรื่องราว แต่แทนที่ด้วยผู้หญิงร่างเล็กที่ชื่อ Faye (รับบทโดย Faye Wong/เฟย์ หว่อง) เธอตกหลุมรักตำรวจหมายเลข 663 ในทันทีที่เจอและเธอแทบคลั่งในตัวเขา แม้ว่าเขาจะแทบไม่รู้จักเธอเลยก็ตาม คนคลั่งรักแบบ Faye ถึงกับต้องลักลอบเข้าห้องของผู้ชายที่เป็นตำรวจเพื่อแสวงหาสิ่งที่ไม่สามารถบรรลุได้ของเธอเอง
เรื่องราวดูเหมือนจะคนละโยชน์แต่ก็มีจุดตรงกลางที่เชื่อมโยงกันด้วยสมการระยะทางที่แปลกประหลาด กับความรักจากอีกด้านของกล้องภาพยนตร์ อย่างในเรื่องแรก ภาพจะโฟกัสไปที่ความเหงาความโดดเดี่ยวท่ามกลางแสงสีและผู้คนจำนวนมาก จนในที่สุดก็นำไปสู่จังหวะกล้องที่ดูสั่นเบลอและระทึกมากขึ้น พร้อมซาวด์แทร็ก Things in Life ของ Dennis Brown ที่เปิดอยู่บ่อยๆ ส่วนในเรื่องที่สองมันคือการเชื่อมต่อเมื่อคนสองคนแยกจากกันและนำไปสู่เรื่องราวที่เริ่มจากความอ้างว้างแต่ดูมีความหวังและอมยิ้มตาม พร้อมเพลง California Dreamin ของ The Mamas and the Papas ที่ตรึงใจอยู่
ความหว่อง หรือความเหงาแบบเท่ๆ สไตล์ Wong Kar-Wai ให้เห็นเต็มไปหมดในทุกๆ ฟุตเทจของหนัง และสิ่งที่หนัง Wong เป็นที่พูดถึงและถูกจดจำมากที่สุดหนึ่งในนั้นก็คือ กิมมิค (Gimmick) ของบทพูด (Dialogue) โดยเฉพาะบทพูดที่เป็นวอยซ์โอเวอร์หรือบทพูดที่บรรยายในฉาก ซึ่งเขาได้ดีไซน์มันออกมาราวกับบทกวีที่เราคงไม่เห็นไม่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ทั้งมีการเปรียบเปรย การแทนค่า การใช้คำพูดแทนภาพต่างๆ อย่างน่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น ตำรวจหมายเลข 223 มักจะเลือกซื้อสับปะรดกระป๋องมากิน และจะเลือกเฉพาะที่มีวันหมดอายุในวันเกิดของเขาก็คือ 1 พฤษภาคม และอีกทั้งแฟนเก่าเขาก็ชื่อ May อีกด้วย หรืออย่างเรื่องที่สอง Faye เลือกที่จะแอบเข้าไปในห้องของคนที่แอบชอบแอบรัก โดยการไปทำความสะอาดให้เขาทุกๆ วัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว แม้มันจะดูแปลกประหลาด แต่มันก็อิ่มเอมหัวใจ จากบทภาพยนตร์ที่ดูชวนฝันผสมกับงานด้านภาพที่อาจจะเป็นรสชาติดิบๆ และถูกเจือปนแบบน้อยที่สุด ซึ่งมันก็ออกมาจากแนวคิดของผู้กำกับจนเป็นสไตล์และมีการพัฒนาในเรื่องต่อๆ ไปอย่างเห็นได้ชัด
สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดเกี่ยวกับ Chungking Express ก็คือ Wong ถ่ายทำทั้งเรื่องในระยะเวลาเพียง 23 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับหนังในช่วงหลังของเขา และทั้งหมดที่เราเห็นนั้นมันก็ถูกเรียบเรียงมาอย่างประณีต ทั้งด้านภาพ การแสดง และช่วงเวลาแห่งความกล้าหาญทางเทคนิคต่างๆ ที่ผ่านมาและผ่านไปภายใต้แสงระยิบระยับ บางทีหากเราคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องราวมันได้วางอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง มันก็ทำให้หลายๆ ช่วงเวลาในภาพยนตร์อาจดูไม่สมเหตุสมผล ทว่าเรื่องราวนี้มันเป็นการผสมผสานระหว่างความจริงและจินตนาการ อีกทั้งมันเป็นการสร้างภาพยนตร์ในเชิงเทคนิคที่น่าทึ่ง และมันยังเป็นแรงกระตุ้นทางจินตนาการให้ผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ ได้รับอิทธิพลอีกด้วย และที่สำคัญ Chungking Express ก็ได้เป็นมาสเตอร์พีซขึ้นหิ้งไปโดยปริยาย
หากสับปะรดกระป๋องของตำรวจหมายเลข 223 คือตัวแทนของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไดอะล็อกประโยคนี้ก็คงไม่ต่างกัน
ผมคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีวันหมดอายุ ไม่เว้นแต่ความรัก แต่สำหรับความทรงจำ ผมไม่อยากให้มันมีวันนั้น… หากความทรงจำที่ผมมีต่อเธอต้องมีวันหมดอายุ ก็ขอให้มันเป็นหมื่นปี
ฮิตจนมีการ ‘กระทำการหว่อง’ กันถ้วนหน้า 55555
ใช่เลยครับ 555
คุณต้อง สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ ก่อน เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้