รีวิว City Lights (1931) ความรักอันน่าประทับใจ ที่ซ่อนอยู่ในมุกตลก
ภาพยนตร์เรื่อง City Lights (1931) กำกับและอำนวยการสร้างโดยตลกดาวค้างฟ้า Charlie Chaplin โดยร่วมเขียนบทกับ Harry Clive และ Harry Crocker ซึ่งเป็นภาพยนตร์เงียบเพียงไม่กี่เรื่องในยุคที่ภาพยนตร์สามารถบันทึกเสียงบทสนทนาได้แล้ว จึงถูกเรียกขานว่า “หนังเงียบที่มาผิดเวลา” สำหรับในประเทศไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกจัดจำหน่ายในรูปแบบวีซีดีและดีวีดีฉบับภาษาอีสานภายใต้ชื่อ “ดวงแบบนี้ มีอีกบ่”
เรื่องราวของ A Tramp ชายไร้บ้าน (รับบทโดย Charlie Chaplin) ที่บังเอิญไปพบกับ A Blind Girl แม่ค้าขายดอกไม้ตาบอด (รับบทโดย Virginia Cherrill) ซึ่งเธอได้กลายเป็นรักแรกพบของเขา ด้วยความปรารถนาดีของเขา ชายไร้บ้านจึงหาวิธีช่วยเหลือสาวตาบอดที่สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ แม้ลำพังเขาเองก็ยังไม่สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้
สวัสดีครับผม Chonla3 เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่อง Blonde (2022) ที่เป็นการตีแผ่ชีวิตสุดอื้อฉาวของ Marilyn Monroe และบังเอิญจริงๆ ที่ผมได้เหลือบไปเห็นโปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่อง City Lights (1931) ในเรื่องนั้น อีกทั้งยังมีการอ้างอิงถึงตัวละครที่เป็นลูกชายของ Charlie Chaplin ด้วยเหตุนี้ผมจึงหยิบเอาหนังเก่าในดวงใจกลับมาดูอีกครั้ง เช่นเดียวกับผลงานเรื่องอื่นๆ ของ Charlie Chaplin เมื่อมองข้ามมุกตลกที่เป็นจุดเด่นของหนัง เราจะเห็นมุมที่สะท้อนความจริงบางอย่างแต่อาจมองข้ามไป ในบทความนี้ผมจึงอยากชวนทุกคนมาตีความสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อกับเรากัน
ด้วยความที่นางเอกของเรื่องเป็นคนตาบอด เธอจึงไม่รู้ว่าตัวละครของ Charlie เป็นคนไร้บ้านที่แต่งตัวสกปรก สิ่งที่เธอสัมผัสได้คือความโอบอ้อมอารีของเขา สาวตาบอดจึงคิดว่าเขาเป็นเศรษฐีผู้มีน้ำใจ แม้จะเป็นมุกตลก แต่สิ่งที่หนังบอกเราอาจสรุปได้ว่า เมื่อเรามองข้ามเปลือกนอกของใครบางคนแล้วจะเห็นสิ่งที่เขาเป็นจริงๆ สาวตาบอดได้เห็นชายแสนอบอุ่นและมีน้ำใจ ในขณะที่คนตาดีมองเห็นแค่คนจรจัดผู้ใช้ชีวิตอย่างไร้แก่นสาร โดยพล็อตเรื่องแบบนี้ก็เคยถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Always (2011) ในอีก 80 ปีให้หลัง ซึ่งเป็นเรื่องของนักมวยใต้ดินกับสาวตาบอดที่ใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง และปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ก็นำภาพยนตร์เรื่องนี้มารีเมกในชื่อ Always (2022)
ตัวละคร An Eccentric Millionaire (รับบทโดย Harry Myers) มหาเศรษฐีที่เป็นเพื่อนรักกับคนไร้บ้าน (เฉพาะตอนเมา) ได้สะท้อนให้เห็นคนที่ยอมรับในความบกพร่องของตัวเองไม่ได้ ทั้งที่เขาจะเป็นเศรษฐีรวยล้นฟ้าแต่เขากลับรู้สึกล้มเหลวถึงขนาดอยากฆ่าตัวตายเพราะถูกภรรยาทิ้ง อาจเป็นเพราะมาตรฐานสังคมในยุคนั้นมักมองว่าชายที่ถูกภรรยาทอดทิ้งเป็นคนไม่เอาไหน เศรษฐีตำหนิตัวเองเพราะรับไม่ได้ว่าชีวิตเขาไม่เพอร์เฟค แต่เมื่อมองไปที่ชายไร้บ้านเขากลับทำท่าทีเหมือนไม่มีอะไรทุกร้อน เพราะเขายอมรับความจริงได้ว่าชีวิตมันไม่สมบูรณ์แบบ และเขาไม่เคยสิ้นหวังต่อการใช้ชีวิต ตัวละครเศรษฐีอาจเป็นเงาสะท้อนของคนที่ไม่ยอมรับขอบกพร่องของตัวเอง ซึ่งขั้วตรงข้ามของเขาคือคนไร้บ้านที่รับข้อบกพร่องของตัวเองได้ เป็นการจับคู่ที่ลงตัว ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวละครที่ตลกที่สุดในเรื่องด้วย
เหนือสิ่งใดคือความรักที่บริสุทธิ์จากชายไร้บ้าน เขารักและหวังดีต่อสาวตาบอดโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เขาทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้เธอมีชีวิตที่ดีขึ้น แม้บางครั้งก็เหมือนกลับว่าเขากำลังหาเรื่องใส่ตัว โดยสิ่งเดียวที่เขาจะได้คือความสุขใจที่ได้เห็นคนรักมีความสุข เอาจริงๆ ผมว่าพล็อตเรื่องหลักค่อนข้างเศร้าและซึ้ง เพียงแต่สิ่งนั้นถูกกลบเกลื่อนด้วยความตลก อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมุกตลกเข้ามาเสริม ภาพยนตร์เรื่อง City Lights (1931) คงเป็นหนังดราม่าเรื่องหนึ่งที่พอเวลาผ่านไปก็ถูกลืม ทุกอย่างมันลงตัวและสวยงามอย่างที่ควรจะเป็น หากคุณมีความคิดเห็นอื่นๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ โปรดบอกให้ผมรู้ในช่องคอมเมนต์ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านรีวิวครับ
ตอนเด็กดูซ้ำไปเป็น10รอบเลยเรื่องนี้ หนังแชปลินดีทุกเรื่องจริงๆ
ตอนจบซึ้งมากครับ รักบริสุทธิ์แท้ๆ
คุณต้อง สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ ก่อน เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้