รีวิว Hunger (2023) รสชาติแห่งชนชั้นที่ถูกจัดจานจากระบอบเผด็จการในครัว

ภาพยนตร์เรื่อง Hunger หรือชื่อไทย คนหิว เกมกระหาย เป็นภาพยนตร์ไทยของ Netflix ที่กำกับโดยสิทธิศิริ มงคลศิริ เขียนบทภาพยนตร์โดยคงเดช จาตุรันต์รัศมี นำแสดงโดย ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง และปีเตอร์ นพชัย ชัยนาม ภาพยนตร์เรื่องนี้นับว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่หลายคนจับตามองนับตั้งแต่มีการประกาศจากทาง Netflix เนื่องจากภาพยนตร์มีธีมหลักเกี่ยวกับวงการอาหารที่แฝงไปด้วยการเสียดสีเรื่องราวของชนชั้นไว้อย่างเข้มข้นจนทำให้หลายคนนึกถึงภาพยนตร์อย่าง The Menu (2022) และ Parasite (2019) รวมไปถึงความทะเยอทะยานของตัวละครที่ทำให้อดคิดถึงเรื่อง Whiplash (2014) ไปไม่ได้จริงๆ อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้มันอยู่ภายใต้บริบทที่คุณจะเข้าใจมันดีกว่าเรื่องไหนๆ

Hunger ว่าด้วยเรื่องราวของ ออย (รับบทโดย ออกแบบ ชุติมณฑน์) แม่ครัวสตรีทฟู้ดที่มีร้านอาหารของครอบครัว ด้วยฝีมือในรสชาติการทำอาหารของเธอจึงทำให้โชคชะตาพาเธอได้เข้าไปสู่ Hunger ทีมทำอาหารสุดไพรเวทชื่อดังที่บริหารงานโดยเชฟพอล (รับบทโดย ปีเตอร์ นพชัย) ผู้โด่งดังสุดเข้มงวด ด้วยเหตุนี้ จากความอยากเป็น “คนพิเศษ” ออยจึงเริ่มถลำลึกเข้าสู่วงการอาหารชั้นสูงที่ทำให้เรียนรู้ว่ารสชาติของชีวิตไม่ได้มีความสุขนัก

ในขณะที่ร้านอาหารของครอบครัวออยมักเต็มไปด้วยลูกค้าที่เป็นชนชั้นแรงงานซะส่วนใหญ่ พร้อมด้วยเมนูสุดง่ายแต่ถูกปากรสชาติอร่อยอย่างผัดซีอิ๊วฝีมือเธอ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นเหมือนคอมูนิตี้ช่วงพักกลางวันของคนทำงานและเพื่อนฝูง รวมไปถึงการเป็นออฟฟิศของเธอเองด้วย ถึงแม้ว่ามันจะเต็มไปด้วยควันและอากาศร้อนก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ครัวของ Hunger นั้นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง มันเป็นบรรยากาศที่ดูเป็นระเบียบและสะอาด ก็เพื่อการปรุงและเตรียมอาหารสำหรับลูกค้าระดับสูงที่มาในคราบคนดัง นักการเมือง หรือมหาเศรษฐี นอกจากนี้ ในครัว Hunger ยังถูกแบ่งเป็นลำดับชั้นภายในอีกทอดหนึ่งด้วย ดั่งที่ตัวละคร โตน (รับบทโดย กรรณ สวัสดิวัตน์) บอกกับออยว่า “ในครัวมันไม่มีหรอกประชาธิปไตย มันมีแต่เผด็จการ”

backdrop-0

Hunger ชัดเจนตั้งแต่ปล่อยตัวอย่างออกมาว่าจะพูดถึงเรื่องการแบ่งชนชั้น และเมื่อได้รับชมแบบเต็มๆ เราจะเห็นว่าคอนเซปต์ของการแบ่งชนชั้นมันถูกวางและจัดจานให้เราเห็นตรงหน้าเราตลอดเวลาและถือเป็นศูนย์กลางของเรื่องไปโดยปริยาย สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือภาพที่อยู่ในเฟรมเดียวกันระหว่างเชฟหรือคนทำอาหารที่จัดว่าเป็นชนชั้นแรงงานกับเหล่าชนชั้นสูงที่เป็นผู้รับประทานอาหาร นอกจากนี้ ผู้สร้างยังเลือกมุมกล้องและลำดับภาพที่แสดงให้เห็นโทนภาพราวกับหนังสยองขวัญอย่างที่ผู้กำกับมีประสบการณ์จากเรื่อง แสงกระสือ (2019), เด็กใหม่ (2018) และ ฤดูร้อนนั้น…ฉันตาย (2013) ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่เหล่านักการเมืองกำลังละเลียดเนื้อเกรดพรีเมี่ยมที่โชกไปด้วยเลือดตามคอนเซปต์ “กินเลือดกินเนื้อ” นั่นเอง ส่วนเรื่องการแสดงไม่มีข้อบกพร่องใดๆ โดยเฉพาะสองนักแสดงนำทั้งออกแบบและปีเตอร์ และก็เป็นอีกครั้งที่ออกแบบได้แสดงศักยภาพให้เห็นถึงความพร้อมในการเป็นนักแสดงแนวหน้าของเอเชีย

backdrop-1

ความทะเยอทะยานของออยเริ่มฉายให้เห็นมุมที่กร้าวร้าวมากยิ่งขึ้นเมื่อเธอเริ่มดำดิ่งเข้าสู่โลกแห่งการทำอาหารสุดหฤโหดนี้ ในความทะเยอทะยานเพื่อการเป็น “คนพิเศษ” ของออยเริ่มกลับมาถามตัวเธอเองว่ามันทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้นหรือไม่? เมื่อถึงจุดหนึ่งภาพสะท้อนของสองห้องครัวก็เริ่มกลับมาใช้ในมุมของการเป็นที่พึ่งทางใจและเป็นที่พักพิงทางกาย และนั้นอาจจะไม่ใช้การเดาทางที่ยากมากนักสำหรับนักดูหนังว่ามันจะจบอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการเดาทางของหนังมันก็ไม่สำคัญเท่ากับบริบทของหนัง ในเมื่อประเทศไทยในช่วงหลายปีหลังมานี้สามารถขึ้นไปแตะอันดับต้นๆ ของโลกในด้านความเหลื่อมล้ำอยู่บ่อยครั้ง มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางทีแนวคิดสุดอคติของเชฟพอลที่บอกว่า “อาหารแสดงถึงสถานะทางสังคม ไม่ใช่ความรัก… อาหารที่ปรุงด้วยความรักไม่มีอยู่จริง” มันก็อาจจะอุปมาอุปไมยไปเป็นอย่างอื่นก็ได้เหมือนกัน

avatar
รีวิวโดย AVAVARAN
0 0

8.4 / 10

รายละเอียดคะแนน

circle

คุณภาพด้านการแสดง

8.5 / 10

circle

คุณภาพของบทภาพยนตร์

8.0 / 10

circle

คุณภาพด้านเทคนิคการสร้าง

8.5 / 10

circle

คุณภาพด้านเสียง

8.0 / 10

circle

ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

9.0 / 10

ข้อมูลภาพยนตร์

ดราม่า|

There is a hunger that can never be fulfilled.

R

145

นาที

Sitisiri Mongkolsiri

ผู้กำกับ, เนื้อเรื่อง

Kongdej Jaturanrasmee

บทภาพยนตร์, เนื้อเรื่อง

ภาษาต้นฉบับ

ไทย

IMDB

6.6

TMDB

7.3

ตัวอย่างภาพยนตร์

trailer
trailer
0 ความคิดเห็น

คุณต้อง สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ ก่อน เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้