รีวิว Record of Ragnarok ซีซัน 2 ศึกตัดสินชะตาระหว่างมนุษยชาติและเหล่าทวยเทพ รอบที่ 4 และ 5 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

Record of Ragnarok ซีซัน 2 หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “มหาศึกคนชนเทพ” ซีรีส์แอนิเมชันที่ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนที่โด่งดังของประเทศญี่ปุ่น ผลงานการกำกับของ มาซาโอะ โอคุโบะ (Masao Okubo) เริ่มสตรีมครั้งแรกบน Netflix ในวันที่ 26 มกราคม 2023 จำนวน 10 ตอน

ต่อจากซีซันที่แล้ว ศึกระหว่างมนุษย์และเทพเจ้าจบลงด้วยคะแนน 2 ต่อ 1 โดยมีผลการต่อสู้ดังนี้

คู่ที่ 1 ธอร์ เทพผู้ทรงพลัง ชนะ ลิโป้ เฟยเสียง ขุนศึกไร้พ่าย

คู่ที่ 2 ซูส มหาเทพแห่งเหล่าทวยเทพ ชนะ อดัม มนุษย์คนแรกของโลก

คู่ที่ 3 โพไซดอน เทพแห่งมหาสมุทร แพ้ ซาซากิ โคจิโร่ นักดาบผู้ไม่เคยเอาชนะใครเลย

และในซีซันนี้ บรุนฮิลด์ ต้องนำทัพเหล่ามวลมนุษยชาติเพื่อทำคะแนนตีตื้นเหล่าทวยเทพให้ได้ แต่หลังการพ่ายแพ้ของโพไซดอน ทวยเทพจึงต้องส่งนักรบที่ทรงพลังที่สุดของตัวเองเข้าการประลองเพื่อหยุดยั้งไม่ให้มนุษย์ทำคะแนนแซงหน้าได้ การประกบคู่ในซีซันนี้ มีอยู่ 2 คู่ ได้แก่

คู่ที่ 4 เฮอร์คิวลิส เทพศึกใจเพชรผู้มีความรักให้ทุกสรรพชีวิต ปะทะ แจ็ค เดอะริปเปอร์ ฆาตกรต่อเนื่องผู้ชั่วร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

คู่ที่ 5 พระศิวะ เทพทำลายล้างผู้อยู่จุดสูงสุดแห่งเทวภูมิอินเดีย ปะทะ ไรเด็น ทาเมเอมอน ซูโม่ไร้พ่ายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

สวัสดีครับผม Chonla3 ซีรีส์เรื่องนี้อยู่ในพื้นที่สีเทาของคำวิจารณ์ที่หลากหลายตั้งแต่ตอนเป็นหนังสือแล้ว บ้างก็ว่าลบหลู่ดูหมิ่นสิ่งที่ควรเคารพบูชาหรือบิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่บางคนกลับชอบที่มีการนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ของเหล่าทวยเทพและบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งสำหรับความรู้สึกส่วนตัวของผม ผมไม่ได้นึกถึงอะไรมากไปกว่าความสนุกที่ได้รับ เพราะรู้ว่าเหล่าเทพเจ้าที่เราเคารพนับถือมักจะถูกนำไปใช้ในสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ และวิดีโอเกม อย่างที่เราเห็นว่าเทพปกรณัมนอร์ธ ถูกนำไปดัดแปลงเป็นฮีโร่ของ Marvel ดังนั้น อยากให้ทุกคนรับชมแบบไม่ต้องคิดอะไร เพราะเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียนบทและตัวละครทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อความบันเทิงเท่านั้น
backdrop-0
จากนี้ผมจะเริ่มรีวิวและเจาะลึกถึงปรัชญาที่แอบแฝงในการต่อสู้แต่ละครั้ง โดยจะไม่มีการสปอยล์ใดๆ ที่ทำให้เสียอรรถรสในการรับชม

คู่ที่ 4 เฮอร์คิวลิส ปะทะ แจ็ค เดอะริปเปอร์ ศึกแห่งความหวังและความสิ้นหวัง

D359E4ED-70A7-4355-AE2E-B14D2C1937A0
ศึกนี้เป็นศึกที่เรียกว่าไม่สมศักดิ์ศรีที่สุด เพราะเทพเจ้าที่ถูกตีความว่าเป็นฮีโร่ของเหล่ามวลมนุษย์ต้องมาต่อสู้กับฆาตกรต่อเนื่องที่ไร้มนุษยธรรม แต่ความน่าสนใจมันอยู่ที่ทัศนคติของตัวละคร ทั้งสองเริ่มต้นจากจุดเดียวกันคือการเป็นเด็กหนุ่มผู้อ่อนแอ ซึ่งการเปรียบเทียบนี้ทำให้ผมตระหนักว่า สภาวะจิตใจที่มั่นคงโคตรจะสำคัญในตอนที่เราประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก จิตใจที่มั่นคงของเฮอร์คิวลิสทำให้เขาผ่านเรื่องราวอันเลวร้ายจนกลายเป็นเทพผู้ปกป้องมนุษย์ ในขณะที่แจ็คอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่โดยหลอกตัวเองว่ามีความสุข จนกระทั่งความจริงบางอย่างได้ปรากฏให้เห็น จิตใจที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วตั้งแต่แรกก็แหลกสลายและทำให้ศีลธรรมที่มีในตัวหายไปจนหมดสิ้น และแม้จะไร้ศีลธรรมแต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ เพราะทุกสังคมย่อมมีคนดีและคนชั่วปะปนกันอยู่ นี่คือธรรมชาติที่สวยงามแม้มันไม่เพอร์เฟค และเมื่อเรามองข้ามกล้ามอันใหญ่โตของเฮอร์คิวลิสและเล่ห์กลสุดโฉดของแจ็ค เราจะเห็นการต่อสู้ระหว่างความหวังและความสิ้นหวังอย่างแท้จริง

คู่ที่ 5 พระศิวะ ปะทะ ไรเด็น ทาเมเอมอน ศึกแห่งความคาดหวัง

EEA26655-8FFE-4CEF-98B6-A55AAC23BC93
ศึกนี้เป็นศึกที่ผมไม่ค่อยอินเลย ผมว่ามันไม่ต่างจากศึกของซูสและอดัมเท่าไหร่ คือแบบ… มายืนต่อยกันเฉยๆ ส่วนที่มาที่ไปก็คล้ายกัน โดยเขียนบทให้ทั้งคู่เป็นผู้แข็งแกร่ง และผู้ที่แข็งแกร่งย่อมได้รับความคาดหวังสูง พวกเขาจึงทุ่มเทสุดชีวิตเพื่อทุกคน โหยย บทโคตรเชยเลย ผมไม่ได้ดราม่าเรื่องเทพหรือประวัติศาสตร์เลย แต่หงุดหงิดที่การ์ตูนเรื่องนี้มีความชาตินิยม การใส่ไรเด็นเข้ามาในศึกนี้ถือเป็นความผิดพลาดเลย เหมือนใส่เข้ามาเพื่ออวยศิลปะการต่อสู้แบบซูโม่ ผมมองว่าไม่จำเป็นเลย เพราะมันลดความหลากหลายของเนื้อหาลง เชื่อว่าคงมีคนอยากเห็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์คนอื่นๆ เช่น เจงกิสข่าน, ชาร์ลี แชปลิน หรือ อเล็กซานเดอร์มหาราช มากกว่าคนที่ทั้งโลกไม่ค่อยรู้จัก แล้วถ้าใครได้อ่านหนังสือต้นฉบับจะรู้ว่าเดี๋ยวก็มีคนญี่ปุ่นมาลงแข่งอีก ส่วนตัวผมว่ามีแค่ ซาซากิ โคจิโร่ คนเดียวก็พอแล้ว

ถึงจะบ่นเรื่องความชาตินิยมของผู้เขียนบท แต่ผมก็เข้าใจได้เพราะผมคิดว่าถ้าผมเป็นคนเขียนบทก็คงใส่ตัวละครไทยเข้าไปเหมือนกัน หากจะสรุปง่ายๆ ซีซันนี้ค่อนข้างขัดใจหลายอย่าง เช่นสเกลพลังของเฮอร์คิวลิสที่ไม่ยิ่งใหญ่เอาซะเลย และพวกตัวละครที่ไม่ได้สู้กับใครแต่มาดึงหน้าเบ่งอำนาจบาดใหญ่แอ็คใส่ชาวบ้านชาวช่อง แต่ก็สนุกดีครับ อย่างน้อยๆ ผมก็ได้เห็นเทพที่มีอยู่ในอารยธรรมของตัวเองมากขึ้น เช่น ท้าวเวสสุวรรณ, พระอินทร์, พระวิษณุ และพระพิฆเนศ ที่สำคัญคือมีการปรากฏตัวของ ศากยมุนี (พระพุทธเจ้า) ด้วย ซึ่งต้องรอถึงซีซันสามถึงจะได้ดูท่านลงแข่ง

เหนือสิ่งอื่นใด แนวคิดที่ซีรีส์เรื่องนี้พยายามจะสื่อคือการบอกให้มนุษย์พึ่งพาตัวเองและมองเห็นความงดงามของตัวเอง มันเป็นการถามตรงๆ ว่า หากวันหนึ่งเหล่าทวยเทพที่เราบูชาไม่ได้ยืนข้างเราแล้วเราจะทำยังไง? ว่ากันว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดมากที่สุดในจักรวาล และเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องโกหกเลย เพราะสิ่งนี้คือเหตุผลที่มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์มาหลายล้านปีแม้พวกเขาจะไม่มีพลังวิเศษ บางทีคนที่เขียนตำนานทวยเทพขึ้นมาอาจเป็นเหล่ามนุษย์ หาใช่เหล่าทวยเทพที่บงการทุกอารยธรรมของมนุษยชาติ

Record of Ragnarok ซีซัน 2 สตรีมครบทุกตอนแล้วที่ Netflix

avatar
รีวิวโดย Chonla3
0 0

7.2 / 10

รายละเอียดคะแนน

circle

คุณภาพด้านการแสดง

6.5 / 10

circle

คุณภาพของบทภาพยนตร์

7.0 / 10

circle

คุณภาพด้านเทคนิคการสร้าง

7.0 / 10

circle

คุณภาพด้านเสียง

7.0 / 10

circle

ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

8.5 / 10

ข้อมูลซีรีส์

แอนิเมชัน|แอ็กชันแอดเวนเจอร์|ไซไฟแฟนตาซี|

ฉายตอนแรกเมื่อ Jun 17, 2021

ภาษาต้นฉบับ

ญี่ปุ่น

เรต

TV-MA

ซีซันและตอน

2 ซีซัน 27 ตอน

TMDB

8.5

Rotten Tomatoes

rotten tomatoes 72%

ตัวอย่างซีรีส์

trailer
trailer
trailer

นักแสดง

profile

Rina Kawaguchi

Reginleif (voice)

profile

Miyuki Sawashiro

Brunhild (voice)

profile

Tomoyo Kurosawa

Göll (voice)

แสดงเพิ่มเติม

0 ความคิดเห็น

คุณต้อง สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ ก่อน เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้