รีวิว Drifting Home (2022) เด็กน้อยบนตึกลอยกลางน้ำ กับไอเดียสุดล้ำที่ไปได้ไม่ถึงฝั่ง

Drifting Home บ้านล่องลอย หรือชื่อในต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นว่า 雨を告げる漂流団地 (อาคารห้องชุดลอยน้ำที่เรียกฝนให้ตกลงมา) เป็นภาพยนตร์อานิเมะออริจินัลเรื่องใหม่ล่าสุดของ Netflix สร้างสรรค์โดย Studio Colorido ผู้สร้าง Penguin Highway (2018), A Whisker Away (2020) และ Star Wars: Visions (2021) ตอน ‘Tatooine Rhapsody’ และกำกับโดย Hiroyasu Ishida ซึ่งเคยกำกับ Penguin Highway มาก่อน

เนื้อเรื่องเริ่มขึ้นด้วยการปูพื้นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวเอก โคสุเกะ (พากย์เสียงโดย Mutsumi Tamura) และ นัตสึเมะ (พากย์เสียงโดย Asami Seto) ว่าเมื่อก่อนสนิทกันมาก แต่หลังจากคุณปู่ของโคสุเกะซึ่งทั้งคู่เคารพรักมากเสียไป ประกอบกับครอบครัวของทั้ง 2 คนได้ย้ายออกจากอาคารห้องชุดคาโมโนมิยะหมายเลข 112 ที่กำลังจะโดนทุบทิ้ง ทำให้ต่างคนต่างค่อยๆ ห่างเหินกันไป แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อโคสุเกะและนัตสึเมะกลับมายังอาคารห้องชุดดังกล่าวพร้อมกับเพื่อนอีก 4 คน จู่ๆ ก็มีฝนตกลงมาห่าใหญ่ และพอรู้สึกตัวอีกที ตึกห้องชุดทั้งหลังก็ไปลอยเท้งเต้งกลางทะเลที่ไหนไม่รู้ แถมยังมีเด็กปริศนาชื่อ นปโปะ (พากย์เสียงโดย Ayumu Murase) ผู้อ้างว่าอยู่กับอาคารห้องชุดหลังนี้มานานแล้ว โผล่มาร่วมวงด้วย

ชื่อ ‘Drifting Home’ สื่อความตรงตัวถึงอาคารห้องชุดซึ่งเคยเป็น ‘บ้าน’ (home) ของโคสุเกะและนัตสึเมะกำลัง ‘ลอย’ (drift) บนผืนน้ำ ทั้งนี้ในภาษาอังกฤษมีสำนวน ‘drift away/apart’ ซึ่งหมายถึงการที่คนเคยสนิทกันค่อยๆ ห่างเหินกันไปตามกาลเวลา คล้ายเรือที่ลอยห่างออกจากฝั่งทุกทีๆ ดังนั้นเมื่อพิจารณาชื่อเรื่องโดยอาศัยความหมายของสำนวนนี้ประกอบกับบริบทของเรื่อง ก็สามารถตีความได้ว่า ไม่ใช่แค่เด็กน้อยตัวเอกทั้ง 2 คนเท่านั้นที่กำลังเหินห่างจากกัน ทว่าสถานที่อันเคยเป็น ‘บ้าน’ ของทั้งคู่ ซึ่งย่อมพ่วงมาด้วยความทรงจำและความผูกพันมากมาย ก็เหมือนกำลัง ‘ล่องลอย’ ออกไปจากชีวิตของพวกตน เพราะตัวตึกจะต้องโดนทุบทิ้งในไม่ช้า เรียกได้ว่าเป็นการตั้งชื่อภาษาอังกฤษที่แฝงนัยอย่างเฉียบแหลม

backdrop-0

ช่วงเปิดเรื่องราว 15 นาทีแรก ประกอบกับภาพโปสเตอร์แนะนำหนังสีสันสดใส อาจทำให้บางคนเข้าใจว่ากำลังจะได้รับชมหนังอานิเมะสนุกๆ เกี่ยวกับกลุ่มเด็กน้อยผจญภัยในต่างโลก (Isekai) เพื่อหาทางกลับบ้าน ระหว่างทางก็ได้เรียนรู้ความสำคัญของพลังมิตรภาพพร้อมกับได้เติบโตขึ้นทางความคิดจิตใจ ประมาณว่า Digimon หรืออะไรทำนองนั้น… ถ้าคุณเองก็กำลังคิดแบบนี้ ขอให้รู้ว่าคิดถูกแล้ว แต่แค่ 10% เท่านั้น

จริงอยู่ พล็อตเรื่องคือการผจญภัยในโลกแฟนตาซีเพื่อหาทางกลับสู่โลกเดิม แต่ตัวละครที่ต้องมาดำเนินเรื่องตามพล็อตนี้คือเด็ก ป.6 ธรรมดาๆ ไม่ได้มีสกิลพิเศษหรือของวิเศษติดตัวทั้งก่อนและหลังข้ามมาต่างโลก แถมยังไม่ได้ฉลาดและสุขุมเกินวัยแบบเจ้าอาโอยามะใน Penguin Highway ทว่าเป็นเด็ก ป.6 ที่มีนิสัย จิตใจ และความคิดอ่านสมวัย 11 - 12 ปีจริงๆ ทั้งซุกซน ดื้อรั้น เอาแต่ใจ พอตกใจกลัวก็ทำอะไรไม่ถูก ถึงจะรักเพื่อน แต่ก็แคร์เฉพาะคนที่นับว่าเป็นพวกพ้อง ถ้าไม่ใช่ จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่สน กระทั่งตัวละครเอกอย่างโคสุเกะและนัตสึเมะก็มักแสดงนิสัยเสียแบบเด็กๆ ออกมาบ่อยๆ

เหนืออื่นใด นิสัยเสียของเด็กๆ เหล่านี้จะมีให้เห็นไปตลอดทั้งเรื่อง แต่จะเห็นน้อยลงเพราะตัวหนังคอยหาโมเมนต์ให้ตัวละครได้แสดงด้านที่ (น่าจะ) ทำให้ผู้ชมยอมรับมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นในกลุ่มตัวเอกก็มีบางตัวที่จนแล้วจนรอดมีบทบาทน้อยจนแทบตัดออกได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับเนื้อเรื่อง และว่ากันตามตรง ตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้ไม่มีพัฒนาการ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แนว Coming-of-age แต่มันเป็นดราม่าในคราบแฟนตาซีที่กดดันให้ตัวละครเรียนรู้และยอมรับความจริงบางอย่างให้ได้ เพื่อที่จะสามารถ ‘มูฟออน’ ต่อไป

backdrop-1

เนื้อเรื่องช่วงครึ่งแรกดำเนินอย่างค่อนข้างเนิบช้า แต่เป็นความเนิบช้าที่ชวนอึดอัด อึมครึม ไม่ปลอดโปร่งโล่งใจ อบอวลไปด้วยความรู้สึกด้านลบที่ทยอยกันเข้ามาจากหลายสิ่งหลายอย่าง ตั้งแต่บรรยากาศวังเวงปนน่ากลัวของอาคารห้องชุดร้าง ความเวิ้งว้างว่างเปล่าของทะเลที่แผ่ออกไปสุดลูกหูลูกตา ความดิ้นรนของพวกเด็กๆ ตอนที่อาหารและน้ำดื่มใกล้หมด ตัวละครลึกลับอย่างนปโปะคุงที่แม้จะดูไม่มีพิษมีภัยแต่ก็ไว้ใจได้ไม่เต็มที่ รวมถึงนิสัยเสียของตัวละครบางตัวที่เชื่อว่าน่าจะทำให้ผู้ชมที่ไม่ได้รักเด็กแบบนางสาวไทยหงุดหงิดจนอยากจับมาตบกะโหลกสักป้าบ ทั้งความดื้อรั้นหัวชนฝาของโคสุเกะ และความเรื่องมากเอาแต่ใจของเรย์นะ (พากย์เสียงโดย Inori Minase) มีจังหวะชิลๆ พอให้ปล่อยใจสบายๆ แค่ไม่กี่วิฯ แถมนานๆ จะมาที

แต่พอไปถึงครึ่งหลัง หรือช่วงที่เริ่มมีการเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับมิติพิศวงซึ่งเต็มไปด้วยทะเลแห่งนี้ (รวมถึงตัวจริงของนปโปะคุง) ตัวเรื่องก็เหมือนโยกเกียร์เร่งสปีดสู่ฉากไคลแมกซ์แบบไม่คิดแวะจอดรับใครที่ไหนแล้ว มีเรื่องให้ร่วมลุ้นกับตัวละครดาหน้าเข้ามาแบบไม่ต้องพักหายใจหายคอ ไปพักทีเดียวตอนช่วงคลี่คลายเรื่องก่อนจบ

ไอเดียหลักของ Drifting Home ที่เพิ่งมานำเสนอในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง (ซึ่งขอไม่บอกว่าคืออะไรเพื่อไม่ให้เป็นการสปอยล์ แต่บอกได้ว่าเกี่ยวข้องกับชื่อเรื่องอย่างมาก) กล่าวได้ว่าแปลกใหม่และน่าสนใจไม่น้อย แต่ด้วยการเดินเรื่องอย่างรวดเร็วเลยมีการแตะไอเดียที่ว่านี้แค่ผิวเผิน หากมีการเขียนบทที่กระจายเนื้อหาดีกว่านี้ หรือทำเรื่องให้ยาวขึ้น เป็นซีรีส์หรือมินิซีรีส์อานิเมะไปเลย ก็อาจนำไอเดียตรงนี้ไปใช้เสริมบทบาทของตัวละครเด็กคนอื่นๆ ในกลุ่มให้เป็นมากกว่าตัวประกอบชั้น 1 รวมถึงทำให้ฉากไคลแมกซ์ของเรื่องดูงงน้อยลงและมีอิมแพกต์มากกว่านี้ได้ด้วยซ้ำ

หากจะมีอะไรที่ Studio Colorido ทำได้ดีเยี่ยมในผลงานชิ้นล่าสุดนี้ เรื่องนั้นน่าจะเป็นโปรดักชัน โดยเฉพาะด้านภาพที่บูรณาการภาพวาด 2 มิติเข้ากับเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิกอย่างงดงามชวนมองตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ทั้งสายฝน คลื่นน้ำทะเล การเรนเดอร์แสงและเงาที่ดูเนียนและนวลตา มิพักต้องพูดถึงการใช้โมเดล 3 มิติสร้างฉากสถานที่ต่างๆ ให้ดูมีบรรยากาศสมจริงและเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย จนทำให้ฉากหลักของเรื่องอย่างอาคารห้องชุดหมายเลข 112 กลายเป็นตัวละครสำคัญอีกตัวของเรื่องทีเดียว (พิมพ์ตรงนี้แล้วขอแอบขยิบตาให้คนที่ดูจบแล้วหน่อย ;) )

backdrop-2

Drifting Home ไม่ใช่ภาพยนตร์อานิเมะที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่แสดงให้เห็นการพัฒนาต่อยอดจากผลงานที่ผ่านมาของ Studio Colorido อีกทั้งเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงศักยภาพที่สตูดิโอแห่งนี้จะสามารถพัฒนางานที่ไปได้ไกลยิ่งกว่านี้ ขอเพียงจดจำและเรียนรู้ทุกสิ่งดีและไม่ดีที่เกิดขึ้น และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ปล่อยหนังเรื่องนี้ให้ ‘ล่องลอย’ ไปก่อนเริ่มสร้างสรรค์โปรเจกต์ใหม่ เช่นเดียวกับที่นัตสึเมะและโคสุเกะต้องยอมปล่อยตึกห้องชุดร้างซึ่งเคยเป็น ‘บ้าน’ หลังเก่าไป ก่อนจะเข้าสู่บทใหม่ของชีวิตใน ‘บ้าน’ หลังใหม่ไปด้วยกัน

แต่ในระหว่างนี้ Drifting Home ยังล่องลอยอยู่กลางท้องทะเลแห่งระบบสตรีมมิงของ Netflix ใครกำลังมองหาภาพยนตร์การ์ตูนหรืออานิเมะที่มีไอเดียแปลกใหม่ และมีรสชาติไม่ซ้ำเดิม ขอแนะนำเรื่องนี้ไว้ให้พิจารณาครับ

avatar
รีวิวโดย PoomNamvol
นักอักษรศาสตร์มือรองบ่อน ผู้สนุกกับการรีวิวสื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ ด้วยไพ่ทาโรต์ในเพจ Facebook: ไพ่เราเผาเรื่อง
0 3

8.2 / 10

รายละเอียดคะแนน

circle

คุณภาพด้านการแสดง

9.0 / 10

circle

คุณภาพของบทภาพยนตร์

6.0 / 10

circle

คุณภาพด้านเทคนิคการสร้าง

10.0 / 10

circle

คุณภาพด้านเสียง

9.0 / 10

circle

ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

7.0 / 10

ข้อมูลภาพยนตร์

แอดเวนเจอร์|แอนิเมชัน|ดราม่า|แฟนตาซี|

What is the secret hidden in the apartment complex?

PG

121

นาที

Hiroyasu Ishida

บทภาพยนตร์, ผู้กำกับ

Hayashi Mori

บทภาพยนตร์

ภาษาต้นฉบับ

ญี่ปุ่น

IMDB

6.3

TMDB

7.5

Rotten Tomatoes

rotten tomatoes 67%
rotten tomatoes 78%

ตัวอย่างภาพยนตร์

trailer
trailer
trailer

นักแสดง

2 ความคิดเห็น
·
1 ตอบกลับ
BLACKPEN
ชอบงานเขียน ชอบมองหาธุรกิจ Blue Ocean สักวันต้องมี The Big Short เป็นของตัวเอง

รีวิวเร็วมาก แชร์ให้แล้วครับ👍

1 ตอบกลับ
PoomNamvol
นักอักษรศาสตร์มือรองบ่อน ผู้สนุกกับการรีวิวสื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ ด้วยไพ่ทาโรต์ในเพจ Facebook: ไพ่เราเผาเรื่อง

ขอบคุณครับ ^_^

พลอย

เรื่องนี้คือทำออกมาดีมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ คือทำให้อินจนร้องไห้ไปเเบบเปียกปอนกันเลยทีเดียว เเต่ทำได้ดีมากจิงๆ จนอินมากๆไปกับตัวละคร โดยเฉพาะนปโปะที่ทำฉันร้องไห้หนักมากๆช่วงท้าย จบเเบบเเฮปปี้ โล่งใจมาก รู้สึกดีมากๆที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ยกให้ขึ้นเเท่นหนังโปรดนัมเบอรวันของ 2022


คุณต้อง สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ ก่อน เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้