ลั้ลลา~ สาเหตุที่ว่า "ทำไม?" ภาพยนตร์แอนิเมชัน Inside Out ถึงเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของค่าย Pixar

ภาพยนตร์แอนิเมชัน Inside Out (2015) นั้นดำดิ่งลงลึกไปสู่อารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ อีกทั้งยังพาเราไปรู้ถึงสาเหตุที่ว่าทำไมแต่ละคนถึงได้รู้สึกอย่างที่พวกเขารู้สึก

image

ในตอนที่ Riley ต้องย้ายออกจากบ้านที่เธอคุ้นเคยมาตั้งแต่เกิดไปยังบ้านใหม่ที่รายล้อมไปด้วยกลุ่มเด็กๆ และโรงเรียนที่เธอไม่คุ้นเคย ทำให้มันกลายเป็นประสบการณ์ที่น่าสะเทือนใจในความทรงจำของเธอ - Riley เป็นเด็กที่ร่าเริงมาโดยตลอดด้วยผลงานการนำทีมของ Joy ผู้ซึ่งต้องการให้ชีวิตของ Riley นั้นมีความสุขอยู่ตลอด แต่เมื่อบ้านใหม่ของ Riley ไม่ได้เป็นไปตามที่เธอหวัง และสิ่งของของเธอทั้งหมดก็ดันอยู่ในรถตู้ที่ไม่ปรากฏตัวมาที่หน้าบ้านของเธอเสียที ทำให้ Anger, Disgust และ Fear ได้เข้าควบคุมแผงอารมณ์ของ Riley ในขณะที่ Joy พยายามอย่างสุดตัวเพื่อที่จะไม่ให้ Sadness เข้าใกล้แผงควบคุม แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ ที่เพิ่งเป็นการเริ่มต้นอย่างแท้จริงก็เริ่มขึ้นเมื่อ Joy และ Sadness เกิดบังเอิญโดนเด้งออกมาจากศูนย์ควบคุมอารมณ์ทั้งคู่ ทำให้ Disgust, Fear และ Anger ต้องแสร้งทำเป็น Joy และพยายามทำให้ Riley นั้นมีความสุขให้ได้ก่อนที่ทั้งคู่จะกลับมา

image

ภาพยนตร์แอนิเมชัน Inside Out แสดงให้เราเห็นถึงความหงุดหงิดและความสับสนของ Riley ขณะที่เธอพยายามจะเป็นเด็กที่ร่าเริงให้ได้ แต่จนแล้วจนรอด เธอก็ล้มเหลวเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอ ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้จะพาเราไปสำรวจอารมณ์ ตัวเร่งปฏิกิริยาและสาเหตุที่ทำให้ Riley รู้สึกถึงอารมณ์อะไรบางอย่างและผลลัพธ์ที่อารมณ์พวกนั้นสามารถสร้างขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังพยายามแสดงให้เราเห็นว่าเราสามารถรู้สึกร่าเริง (Joy) และเศร้าซึม (Sadness) ได้ในเวลาเดียวกันได้อย่างไร ถึงแม้ว่า Joy จะต้องใช้เวลาในการพยายามทำความเข้าใจถึงความหลากหลายที่ Sadness สามารถทำให้เธอรับรู้ได้ก็ตาม ทำให้ภาพยนตร์ Inside Out นั้นเป็นเหมือนกับรถไฟเหาะตีลังกาแห่งอารมณ์และความรู้สึกที่จะทำให้เรารู้ว่าการพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกต่างๆ ของตนเอง แทนที่จะพยายามกำจัดอารมณ์และความรู้สึกเหล่านั้นออกไปนั้นมีความหมายอย่างไรในขณะที่เราต้องเติบโตขึ้นและพบเจอกับสิ่งใหม่ๆ อยู่ทุกวัน

การเล่าถึงผลกระทบทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัว

image

การย้ายบ้านหรือย้ายถิ่นฐานนั้นเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายแบบไม่ต้องสงสัย แถม Riley ยังต้องพยายามดิ้นรนที่จะรักษาความสดใสร่าเริงของเธอเอาไว้ในขณะที่โลกทั้งใบของเธอเปลี่ยนไป Riley ต้องอยู่ห่างไกลจากบ้านเดิมของเธอ ต้องหาเพื่อนใหม่ เข้าร่วมทีมฮอกกี้ใหม่และปรับตัวเข้ากับโรงเรียนใหม่ ในขณะที่แม้แต่บ้านใหม่ของเธอเองก็ยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์เลยสักชิ้น ภาพยนตร์แอนิเมชัน Inside Out แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ทั้งในชีวิตจริงและในหัวของ Riley เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่เธอไม่คุ้นเคย และในขณะเดียวกัน Inside Out ก็เล่าเรื่องของ Joy และ Sadness ไปพร้อมๆ กันกับเรื่องของ Riley อีกด้วย โดย Joy นั้นคุ้นเคยกับการเป็นผู้นำในการควบคุมอารมณ์ต่างๆ ในหัวของ Riley แต่ประสบการณ์แปลกประหลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เธอเองค่อยๆ ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในช่วงที่ Joy และ Sadness ติดอยู่ในเกาะแห่งความทรงจำระยะยาว พวกเขาทั้งคู่และผู้ชมก็จะได้ตั๋วที่นั่งแถวหน้าไปสู่เกาะแห่งบุคลิกภาพที่ค่อยๆ พังทลายลงทุกครั้งที่ความพยายามในการสร้างความจำหลักขึ้นใหม่นั้นล้มเหลว

image

การตัดสินใจของ Anger ที่ว่าจะให้ Riley หนีออกจากบ้านโดยที่เขาเชื่อว่าการตัดสินใจนี้จะช่วยให้ Riley สามารถสร้างความทรงจำหลักที่มีความสุขขึ้นมาใหม่ได้ แต่นี่ไม่ใช่แค่การตัดสินใจของ Anger เพียงอย่างเดียว การตัดสินใจนี้เป็นการตัดสินใจของทั้ง Fear, Anger และ Disgust ที่ต้องทำหน้าที่ควบคุมแผงอารมณ์หลักโดยไม่มี Joy และ Sadness ทำให้ Sadness ต้องกลายมาเป็นคนควบคุมแผงอารมณ์หลักเพื่อให้ Riley กลับมารับรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเธอให้ได้ และขัดขวางแผนการหนีออกจากบ้านของเธอให้สำเร็จ

ความสมดุลของความรู้สึกลั้ลลาและเศร้าซึม

image

ถึงแม้ว่า Joy อาจจะเชื่อว่าเธอนั้นเป็นอารมณ์พื้นฐานและอารมณ์หลักในชีวิตของ Riley และนั่นทำให้เธอไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญกับ Sadness เลยสักนิด หากไม่มี Joy ชีวิตของ Riley ก็คงไม่อาจมีความสุขได้ก็จริง แต่ถ้าหากไม่มี Sadness Riley ก็คงไม่สามารถรับรู้ได้ถึงอารมณ์ต่างๆ ที่เธอสามารถรู้สึกได้และกลายเป็นคนที่ขาดความสามารถในการแสดงความเห็นอกเห็นใจแก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน และความเห็นอกเห็นใจก็เป็นสิ่งที่ Sadness สามารถรับรู้และเข้าใจได้ในทันที Joy และ Sadness นั้นมีงานที่แตกต่างกันมากและมีอิทธิพลที่แตกต่างกันในชีวิตของ Riley แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ Riley กลายเป็นคนที่สามารถรับรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่นได้

image

ภาพยนตร์แอนิเมชัน Inside Out นั้นสะท้อนให้เราเห็นถึงชุดความคิดที่ว่า “คนเราไม่จำเป็นต้องมีความสุขอยู่ตลอดเวลาก็ได้” และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ส่งเสริมให้เราเปิดใจยอมรับความรู้สึกและอารมณ์ที่หลากหลาย โดยสื่อว่าอารมณ์ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนสำคัญในชีวิตเรา และไม่มีอะไรแปลกหากเราจะเลือกที่จะรู้สึกเศร้าซึมบ้างในบางครั้ง Inside Out จะแสดงให้เราเห็นว่าความรู้สึกลั้ลลาและเศร้าซึมนั้นสามารถเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้ และบุคลิกของ Riley นั้นขึ้นอยู่กับว่าความทรงจำของเธอนั้นส่งผลต่อวิธีการใช้ชีวิตของเธออย่างไร

ความรู้สึกผูกพันธ์อย่างลึกซึ้งทางด้านอารมณ์

image

ในตอนแรก ภาพยนตร์แอนิเมชัน Inside Out นั้นถูกวางคอนเซ็ปต์มาให้เป็นภาพยนตร์ที่สะเทือนอารมณ์ของผู้ชมมากๆ มาตั้งแต่ต้น การที่ Riley ร้องไห้ในโรงเรียนใหม่ขณะที่เธอคิดถึงชีวิตเก่าของเธอในรัฐ Minnesota นั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางทางอารมณ์ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจให้มันเป็นเท่านั้น เมื่อ Joy และ Sadness ได้พบกับ Bing Bong เพื่อนในจินตนาการในวัยเด็กของ Riley ตอนนั้นเองที่พวกเขาได้ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของ Riley มากขึ้น ว่านอกจากการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในที่ที่ไม่คุ้นเคยแล้ว Riley ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยทิ้งกิจกรรมในวัยเด็กของเธอเอาไว้เบื้องหลังอีกด้วย โดยกิจกรรมในวัยเด็กที่เธอทิ้งเอาไว้นั่นก็รวมถึง Bing Bong ที่เคยเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเธอก็ด้วย ดูเหมือนว่า Riley จะไม่ได้คิดถึง Bing Bong มาหลายปีแล้ว เพราะเรือจรวดของพวกเขาถูกส่งไปยังก้นบึ้งที่ลึกที่สุดเพื่อให้มันถูกลืมไปตลอดกาล

image

การตัดสินใจของ Bing Bong ที่จะสละตัวเองเพื่อให้ Joy และ Sadness ได้กลับไปยังแผงควบคุมอารณ์หลักโดยที่รู้ดีว่าตัวเองจะต้องเลือนหายไป เป็นฉากที่ไม่เพียงแค่น่าเศร้าสำหรับตัวละครที่ดูมีความสุขตลอดเท่านั้น แต่ยังเป็นฉากที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ว่าบางทีเราจำเป็นต้องทิ้งบางอย่างเอาไว้เบื้องหลังเพื่อที่เราจะได้เติบโตขึ้นอีกด้วย ในตอนที่ Joy ตระหนักได้ว่าเธออาจไม่ได้กลับไปยังศูนย์ควบคุมหลักและไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของ Riley ได้อีกเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาของตัวละคร แต่อย่างไรก็ตาม บางทีฉากที่สำคัญที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะเป็นการที่พ่อแม่ของ Riley รู้สึกว่าพวกเขาอาจสูญเสีย Riley เธอไปตลอดกาลหลังจากที่พวกเขากลับมาที่บ้านแล้วไม่เจอเธอก็เป็นได้ และถึงแม้ว่าการตัดสินใจให้ Sadness เป็นคนควบคุมแผงอารมณ์หลักอาจเป็นการเสี่ยงให้ Riley ต้องรับรู้ถึงความยากลำบากที่เธอกำลังต้องเผชิญและการซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองนั้นยากเพียงใด แต่ในตอนสุดท้าย การกอดกันแบบกลุ่มของกลุ่มก็เหมือนการที่ Riley ได้กลับมาหายใจได้อีกครั้ง ทำให้นั่นกลายเป็นว่า Joy เองก็ได้เป็นคนควบคุมแผงอารมณ์หลักด้วยเช่นกัน เนื่องจาก Riley รู้สึกสบายใจจากช่วงเวลาที่ได้สร้างความผูกพันธ์กับพ่อแม่ของเธอ ทำให้ Joy และ Sadness ได้สร้างความทรงจำหลักใหม่เอี่ยมขึ้นมาร่วมกัน โดยภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ทั้ง Joy, Sadness, Disgust, Anger และ Fear นั้นสามารถทำสร้างความทรงจำขึ้นมาร่วมกันได้ และความทรงจำของ Riley สามารถมีอารมณ์ในนั้นได้มากกว่าหนึ่งอารมณ์

ที่มา: Movie Web
0 ความคิดเห็น

คุณต้อง สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ ก่อน เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้

poster
Inside Out

มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง

Jun 17, 2015

ข่าวจัดอันดับ

ประจำเดือนนี้