รีวิว Strange World (2022) เนื้อเรื่องถอยไป Disney ขอจัดหนักจัดใหญ่ทั้งภาพงามๆ และความ Woke

ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ Walt Disney รวมถึงบริษัทในเครืออย่าง Marvel Studios และ Lucasfilm น่าจะเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการสื่อบันเทิงที่แสดงตัวเด่นชัดที่สุดว่าสนับสนุนและพร้อมเชิดชู ‘วัฒนธรรมตื่นรู้’ (Woke culture) ด้วยการพยายามสอดแทรกความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว เพศ และลักษณะทางกายภาพเข้าไปในผลงานในเครือทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น การแคสต์นักแสดงผิวดำให้รับบทนางฟ้าแม่ทูนหัวใน Pinocchio (2022) และเงือกน้อยแอเรียลใน The Little Mermaid (2023) แต่พวกนั้นก็นับว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับความ Woke ที่ Disney นำเสนอในภาพยนตร์แอนิเมชันลำดับที่ 61 อย่าง Strange World

หนังการ์ตูน Disney ประจำปี 2022 เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ Don Hall โดยมี Qui Nguyen ร่วมกำกับและเขียนบท ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยร่วมงานกันมาแล้วในการสร้าง Raya and the Last Dragon (2021) ซึ่งได้รับเสียงตอบรับทั้งด้านบวกและลบผสมกัน แต่สำหรับผลงานใหม่ของทั้งคู่เรื่องนี้ เสียงตอบรับด้านลบดูจะมีมากกว่า ที่ร้ายสุดคือถึงขั้นมีผู้ชมหลายคนในอเมริกาเดินออกจากโรงภาพยนตร์หลังจากหนังฉายได้ไม่กี่สิบนาที และสาเหตุสำคัญก็ไม่น่าจะเป็นอะไรอื่นนอกจากองค์ประกอบ Woke ที่หนังเทกระหน่ำใส่คนดูไม่ยั้ง

Strange World เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในดินแดนไซไฟแฟนตาซีชื่ออะวาโลเนีย มีศูนย์กลางของเรื่องคือคนตระกูลเคลด 3 ชั่วรุ่น เริ่มจาก เยเกอร์ เคลด (พากย์เสียงโดย Dennis Quaid) นักสำรวจระดับตำนานผู้บุกป่าฝ่าดงสำรวจมาแล้วทั่วแดนดิน เหลือก็แต่โลกเบื้องหลังแนวเทือกเขาสูงเสียดฟ้าซึ่งล้อมรอบอะวาโลเนีย เขาหายสาบสูญไประหว่างนำทีมสำรวจโพรงถ้ำใต้เทือกเขาเพื่อหาเส้นทางใต้ดินลอดไปยังอีกฟาก ในการเดินทางครั้งเดียวกันนั้น เสิร์ชเชอร์ (พากย์เสียงโดย Jake Gyllenhaal) ลูกของเยเกอร์ค้นพบ ‘แพนโด’ พืชประหลาดที่มีพลังงานคล้ายประจุไฟฟ้าอยู่ในผล ซึ่งทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษผู้ค้นพบแหล่งพลังงานสะอาดจากธรรมชาติสำหรับหล่อเลี้ยงอะวาโลเนีย เสิร์ชเชอร์ไม่อยากเป็นนักสำรวจที่รอนแรมไปทั่วตามอย่างพ่อ จึงเลือกเส้นทางชีวิตที่มั่นคงกว่าอย่างการเป็นเกษตรกรทำไร่แพนโด และเขาก็หวังให้ลูกชายชื่ออีธาน (พากย์เสียงโดย Jaboukie Young-White) รับช่วงต่อไร่แพนโดของครอบครัว ทว่าอีธานกลับใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ได้ทำอะไรๆ มากกว่าหมกตัวอยู่แต่ในไร่ และอยากเป็นแบบปู่มากกว่าพ่อ

backdrop-0

ต่อมาก็เกิดเรื่องขึ้น แพนโดที่ปลูกกันทั่วอะวาโลเนียเริ่มติดโรคระบาดลึกลับที่ทำให้เหี่ยวเฉาเร็ว หากปล่อยไว้ต่อไปจะทำให้อะวาโลเนียสูญเสียแหล่งพลังงานหลัก คัลลิสโต (พากย์เสียงโดย Lucy Liu) ประธานาธิบดีหญิงแกร่งแห่งอะวาโลเนีย ท้้งยังเป็นอดีตสมาชิกทีมสำรวจของพ่อลูกเคลด เดินทางมาชวนเสิร์ชเชอร์ขึ้นยานสำรวจหลุมลึกใต้ดินเพื่อหาต้นตอที่ส่งผลกระทบต่อเครือข่ายรากของแพนโดทุกต้น ต่อมาพวกเขาพบว่าอีธานแอบขึ้นยานมาด้วย เท่านั้นไม่พอ เขายังกระเตงน้องหมาประจำบ้านมาพร้อมกัน แถมเมอริเดียน (พากย์เสียงโดย Gabrielle Union) แม่ของเขายังขับยานตามพ่อลูกชายตัวดีมา จากนั้นทั้งคณะรวมถึงครอบครัวเคลดก็ไปเจอกับดินแดนประหลาดใต้พื้นพิภพซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหน้าตาประหลาด ก่อนจะได้พบเยเกอร์ผู้หายสาบสูญไป 25 ปี และความจริงอันชวนตกตะลึงเกี่ยวกับดินแดนบ้านเกิดของพวกเขา

ขึ้นชื่อว่าเป็นแอนิเมชันจากค่าย Disney ทั้งที แน่นอนว่าคุณภาพของเทคนิคการสร้างย่อมไม่ธรรมดา ภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก (ซีจี) 3 มิติยังสวยงามชวนมอง และการเคลื่อนไหวยังคงลื่นไหลนุ่มนวลตามมาตรฐานของยักษ์ใหญ่แห่งวงการแอนิเมชันเจ้านี้ อีกทั้งในช่วงเหตุการณ์ย้อนอดีต บอกเล่าวีรกรรมของเยเกอร์ เคลด ก็เล่าด้วยภาพ 2 มิติในสไตล์หนังสือภาพและการ์ตูนคอมิก ซึ่งทำออกมาได้งามไม่แพ้กัน แต่ที่โดดเด่นเหนื่ออื่นใดคือฉากซึ่งออกแบบมาได้ดีเยี่ยม เต็มเปี่ยมด้วยสีสันสดใสและรายละเอียดชวนพินิจพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นฉากบ้านไร่แพนโดของครอบครัวเคลด ดินแดนอะวาโลเนียที่ดูเป็นเมืองแนวสตีมพังค์แบบรักษ์ธรรมชาติ (เพราะใช้เทคโนโลยีจากพลังงานธรรมชาติล้วนๆ) และโลกใต้พิภพซึ่งเต็มไปด้วยทัศนียภาพและสิ่งมีชีวิตสุดวิจิตรพิสดาร ทว่าดูๆ ไปก็คุ้นๆ เหมือนอะไรที่พบเจอจากวิชาวิทย์กายภาพชีวภาพ (ซึ่งพอถึงช่วงท้ายเรื่องก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมถึงดูคุ้นนัก) ตรงกันข้ามกับดีไซน์ตัวละคร โดยเฉพาะฝั่งมนุษย์ ซึ่งดูค่อนข้างจืดชืดน่าเบื่อเมื่อเทียบกับดีไซน์ฉาก ครอบครัวมาดริกัลสิบกว่าชีวิตในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องก่อนหน้าของ Disney อย่าง Encanto (2021) ยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวมากกว่าด้วยซ้ำ

backdrop-1

แต่ครั้นจะบอกว่าตัวละครมนุษย์ใน Strange World ไม่มีความโดดเด่นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว อันที่จริงต้องบอกว่าโดดเด่นเอามากๆ แต่เป็นในแง่ความแตกต่างหลากหลาย (Diversity) ตามกระแส Woke ตัวละครส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำไม่ก็ดูมีเชื้อสายละตินอเมริกัน ตัวเอกที่เป็นชายแท้ผิวขาวมีแค่เยเกอร์และเสิร์ชเชอร์ ซึ่งแม้จะมีบทบาทเด่นจนเป็น 2 ใน 3 ตัวขับเคลื่อนเรื่อง แต่ก็โดนตัวหนังจับ ‘แกง’ ในหลายๆ ฉากให้ดูงี่เง่าเอาแต่ใจ ในขณะที่ตัวเอกฝั่งหญิงล้วนเป็นคนผิวสีที่ดูเก่งกล้าสามารถมากกว่า ไม่ว่าจะเมอริเดียนที่เป็นคนผิวดำ หรือคัลลิสโตที่หน้าตาออกไปทางเม็กซิกัน (แถมยังพากย์โดยคนเอเชีย) ส่วนอีธานซึ่งเป็นตัวเอกที่แท้จริงของเรื่องยิ่งแล้วใหญ่ นอกจากจะเป็นลูกครึ่งขาวดำที่มีผมเดรดล็อกคล้ายคนจาไมกาแล้ว ตัวหนังยังเปิดเผยชัดเจนว่าตัวละครนี้เป็นเกย์ที่มีแฟนเป็นผู้ชายแบบเป็นตัวเป็นตน ทั้งยังเป็นที่รับรู้และยอมรับของครอบครัวและคนรอบข้าง นับว่าเป็นตัวเอกในการ์ตูน Disney ตัวแรกที่เป็น LGBTQIA+ แบบเปิดเผย อ้อ! นอกจากนั้นยังมีเจ้าเลเจนด์ สุนัข 3 ขาที่เป็นสัตว์เลี้ยงของบ้านเคลด ขาหน้าข้างซ้ายกุดไปครึ่งหนึ่ง แต่ก็เดินและวิ่งได้คล่องแคล่วไม่ต่างจากหมาปกติ คล้ายจะเป็นตัวแทนของผู้มีความพิการทางร่างกายที่ใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิใจในร่างกายของตัวเองร่วมกับคนร่างกายสมประกอบอื่นๆ ในสังคม

โดยส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ทำให้ผู้เสพสื่อบันเทิงจำนวนมากในปัจจุบันอิดหนาระอาใจกับความ Woke ในภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่อง ไม่ใช่เพราะเรื่องเหล่านั้นมีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพศสถานะ หรือร่างกาย แต่เป็นเพราะภาพยนตร์และซีรีส์เหล่านั้นมักใส่ตัวละครที่มีความหลากหลายเข้ามาโดยไม่จำเป็นกับเนื้อเรื่อง เหมือนสักแต่ว่าใส่เข้ามาเพื่อแสดงว่าค่ายหนัง (หรืออย่างน้อยก็ผู้กำกับ) ใส่ใจกับประเด็นเรื่องความหลากหลาย จะได้ไม่ต้องตกเป็นเป้าโจมตีของชาว Woke ตาม Twitter กรณีที่พบบ่อยคือภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่สร้างดัดแปลงจากหนังคลาสสิก นิยาย การ์ตูน เกม แล้วแคสต์นักแสดงผิวสีให้รับบทตัวละครซึ่งเป็นฝรั่งผิวขาวในเรื่องต้นฉบับ หรือบางครั้งก็เปลี่ยนตัวละครชายแท้หญิงแท้เป็น LGBTQIA+ ดังที่เกิดกับภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันรีเมกและซีรีส์ Netflix หลายเรื่อง

สำหรับ Strange World ก็เช่นกัน ความแตกต่างหลากหลายของตัวละครไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ต่อเนื้อเรื่องแม้แต่น้อย อย่างน้องเลเจนด์ พอโผล่มาปุ๊บก็มี 3 ขาเลย ตัวหนังไม่ได้อธิบายที่มาที่ไปว่าน้องไปเจออะไรมาหรือเป็นแบบนี้มาแต่เกิด อีกทั้งความเป็นหมา 3 ขาของน้องก็ไม่ได้มีตัวละครอื่นพูดถึงหรือเป็นปัจจัยในการแก้ปมปัญหาในเรื่องแต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับความเป็นเกย์ของอีธาน ซึ่งกลายเป็นแค่กิมมิกเติมสีสันเล็กๆ น้อยๆ ให้เรื่อง อันหลังนี้น่าเสียดายไม่น้อย เพราะคนเขียนบทสามารถหยิบไปใช้เป็นชนวนสร้างปมดราม่าในเรื่องได้ ทั้งนี้เพราะ Strange World มีหลายฉากที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ ‘ความเป็นพ่อ’ และ ‘การมอบมรดกตกทอดแก่คนรุ่นหลัง’ ซึ่งเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับการมีทายาทสืบสกุล แต่การที่อีธานเป็นเกย์ก็เท่ากับว่าสายเลือดตระกูลเคลดจะสิ้นสุดลงที่เขา และถึงแม้จะไม่แปลกที่เสิร์ชเชอร์ซึ่งมีคาแรกเตอร์แบบพ่อสมัยใหม่จะยอมรับรสนิยมทางเพศและแฟนหนุ่มของลูกด้วยดี แต่กลับกลายเป็นว่าเยเกอร์ผู้แสน Macho ที่น่าจะมีคาแรกเตอร์แบบคุณพ่อหัวเก่ากลับไม่แสดงท่าทางคัดค้านหรือแม้แต่ตั้งคำถามต่อพฤติกรรมรักร่วมเพศของหลานชายเพียงคนเดียวไปด้วย นับเป็นจุดที่ดูห่างไกลความเป็นจริงและแปลกประหลาดสุดๆ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า หรือนี่จะเป็นความ ‘Strange’ ที่แท้จริงของโลกสมมติในเรื่องนี้?

backdrop-2

เมื่อตัดเรื่อง Wokeๆ และความหลากหลายต่างๆ ออกไป (ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าตัดไปก็ไม่มีปัญหาอะไรกับเนื้อเรื่องอยู่ดี) สิ่งที่เหลืออยู่ใน Strange World คือเรื่องราวการผจญภัยแบบครอบครัวๆ ที่ค่อนข้างเบาบาง ปัญหาต่างๆ แก้ไขหรือไม่ก็คลี่คลายลงได้ง่ายดาย ไม่เหลืออะไรให้ผู้ชมลุ้นเท่าไร ราวกับทีมผู้สร้างเองก็ทุ่มเทพลังสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ไปกับการดีไซน์ฉากและการผลิตซีจีสุดอลังการ รวมถึงคาดหวังให้ผู้ชมเพลิดเพลินกับภาพสุดอลังฯ บนจอมากกว่าขบคิดกับเนื้อเรื่อง

แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าตัวเรื่องจะไม่สอดแทรกประเด็นอะไรไว้ให้ขบคิดเลย เพราะเรื่องนี้แฝงข้อคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไว้ได้อย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจ ทั้งยังสอดคล้องกับทฤษฎีกายา (Gaia Theory) ของ James Lovelock ซึ่งเป็นแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน นอกจากนั้นมุมมองซึ่งครอบครัวเคลดทั้ง 3 รุ่นมีต่อโลกภายนอกยังสามารถนำมาเปรียบเทียบกับแนวทางที่มนุษย์ปฏิบัติต่อธรรมชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากเยเกอร์ซึ่งมองว่าธรรมชาติเต็มไปด้วยดินแดนลึกลับที่จำเป็นต้องบุกเบิกและพิชิต ตามด้วยเสิร์ชเชอร์ซึ่งมองธรรมชาติเป็นทรัพย์สินที่มนุษย์สามารถครอบครองและใช้ประโยชน์ (เช่น การทำไร่เพื่อให้สามารถปลูกผลไม้นอกฤดูกาล) จนมาถึงอีธานผู้ตระหนักว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และควรหาหนทางอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน นักวิชาการหรือนักวิจารณ์ที่สนใจการวิเคราะห์วรรณกรรมและภาพยนตร์ด้วยทฤษฎีนิเวศน์วิจารณ์ (Ecocriticism) น่าจะหาประเด็นจากหนังการ์ตูนเรื่องนี้มาวิเคราะห์ได้สนุก

ในภาพรวม Strange World อาจเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่น่าผิดหวังนิดๆ ทั้งนี้หากมองความเนื้อเรื่องอันแสนเบาบางและความ Woke ที่เรี่ยราดโดยไม่จำเป็น เรื่องนี้ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่พร้อมเสิร์ฟภาพกราฟิก 3 มิติงามๆ ให้ได้ชมกันเพลินๆ สำหรับทั้งครอบครัว และหลังดูจนจบก็น่าจะช่วยให้ช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัวหดแคบลงมาไม่มากก็น้อยเลยครับ

backdrop-3

avatar
รีวิวโดย PoomNamvol
นักอักษรศาสตร์มือรองบ่อน ผู้สนุกกับการรีวิวสื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ ด้วยไพ่ทาโรต์ในเพจ Facebook: ไพ่เราเผาเรื่อง
0 0

7.6 / 10

รายละเอียดคะแนน

circle

คุณภาพด้านการแสดง

8.0 / 10

circle

คุณภาพของบทภาพยนตร์

4.5 / 10

circle

คุณภาพด้านเทคนิคการสร้าง

10.0 / 10

circle

คุณภาพด้านเสียง

9.0 / 10

circle

ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

6.5 / 10

ข้อมูลภาพยนตร์

แอดเวนเจอร์|แอนิเมชัน|ครอบครัว|ไซไฟ|แฟนตาซี|

ก้าวเข้าสู่ดินแดนสุดอัศจรรย์ กับครอบครัวนักสำรวจที่จะพาคุณไปค้นพบความพิศวงที่ไม่สิ้นสุด ผลงานจากผู้สร้าง Frozen และ Raya and The Last Dragon 🌋👾⛰ พบกับ Disney’s Strange World ลุยโลกลึกลับ

PG

102

นาที

Don Hall

ผู้กำกับ

Qui Nguyen

บทภาพยนตร์

ภาษาต้นฉบับ

อังกฤษ

ทุนการสร้าง

$180,000,000

รายได้

$73,621,640

IMDB

5.7

TMDB

6.4

Rotten Tomatoes

rotten tomatoes 72%
rotten tomatoes 39%

ตัวอย่างภาพยนตร์

trailer
trailer
trailer

นักแสดง

profile

Jaboukie Young-White

Ethan Clade (voice)

profile

Gabrielle Union

Meridian Clade (voice)

profile

Lucy Liu

Callisto Mal (voice)

แสดงเพิ่มเติม

0 ความคิดเห็น

คุณต้อง สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ ก่อน เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้